วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประเภทของยาเสพติด


 วัตถุเสพติด หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุใดๆ ที่มีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรมและทำให้เกิดการเสพติด สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

    1.ยาเสพติดให้โทษ 
 หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุใดๆ เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายแล้วทำให้เกิดผลเสียต่อ ร่างกายและจิตใจ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลำดับ มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจ และสุขภาพทั่วไปจะทรุดโทรม ตัวอย่างเช่น ยาบ้า เฮโรอีน โคเคน กัญชา เป็นต้น
    การแบ่งประเภทของยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้แบ่งยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท คือ
     ประเภท 1  ยาเสพติดให้โทษร้ายแรง เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน
     ประเภท 2  ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน โคเคน ฝิ่นยา
     ประเภท 3  ยาเสพติดให้โทษที่มียาเสพติดให้โทษประเภท 2 เป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ เช่น ยาแก้ไอผสมโคเดอีน
     ประเภท 4  สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติค แอนไฮไดรด์ (acetic anhydride) อาเซติล คลอไรด์ (acetyl chloride) และเอทิลลิดีนไดอะซิเตด (ethylidine diacetate)
     ประเภท 5  ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม และเห็ดขี้ควาย
    2.วัตถุออกฤทธิ์ หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุใดๆ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจ ของผู้ที่ได้รับสารเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น เคตามีน (ยาเค) อัลปราโซแลม ไดอะซีแพม เป็นต้น
     การแบ่งประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ตาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มีการจัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
     ประเภท 1  มีอันตรายร้ายแรง มีประโยชน์ในด้านการแพทย์บ้างแต่น้อยหรือไม่มีเลย เช่นเมสคาลีน จีเฮชบี ทั้งนี้ให้รวมทั้งวัตถุที่มีชื่อทางเคมีอย่างเดียวกันแต่เรียกชื่ออย่างอื่น เกลือของวัตถุดังกล่าวและวัตถุตำรับใดๆ ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ปรุงผสมอยู่ด้วย
     ประเภท 2  มีอันตรายมาก และมีประโยชน์น้อยในด้านการแพทย์ เช่น เซโคบาร์บิตาล เฟนเตอร์มีน ทั้งนี้รวมทั้งวัตถุที่มีชื่อทางเคมีอย่างเดียวกัน แต่เรียกชื่ออื่น เกลือของวัตถุดังกล่าว และวัตถุตำรับใดๆ ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ปรุงผสมอยู่ด้วย
     ประเภท 3  มีอันตรายมากเช่นกัน แต่ก็มีประโยชน์ในทางการแพทย์มาก เช่น เพนโตบาร์บิตาล เมโพรบาเมท ทั้งนี้รวมทั้งวัตถุที่มีชื่อทางเคมีอย่างเดียวกัน แต่เรียกชื่ออื่น เกลือของวัตถุดังกล่าว และวัตถุตำรับใดๆ ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 ปรุงผสมอยู่ด้วย
      ประเภท 4  มีอันตรายน้อย แต่ยังมีบ้าง และมีประโยชน์มากในด้านการแพทย์ เช่นไดอาซีแพม (diazepam) ฟีโนบาร์บิตาล เว้นแต่ฟีโนบาร์บิตาลที่ปรุงผสมอยู่ในตำรับยาที่มีความมุ่งหมายสำคัญ เพื่อบรรเทาอาการหอบหืด โดยมีปริมาณของฟีโนบาร์บิตาลสำหรับรับประทาน หรือสอดทางทวารหนัก ครั้งละไม่เกิน 15 มิลลิกรัม
     3. สารระเหย  หมายถึง สารประกอบอินทรีย์เคมี ที่ได้จากน้ำมันปิโตเลียมและก๊าซธรรมชาติ เป็นสารที่ระเหยได้ง่ายในอุณหภูมิห้อง สารเหล่านี้ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั่วไป เช่น อะซิโตน ทินเนอร์ แลคเกอร์ กาวยาง เป็นต้น   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น